เผาศพวันไหนไม่ได้บ้าง และตายวันเสาร์ เผาวันอังคาร คืออะไร?

เผาศพวันไหนดี - ไม่ดียังไง แต่ละท้องที่มีความเชื่อแตกต่างกันยังไงบ้าง เรารวมคำตอบมาให้หมดแล้ว มาดูกันว่าบ้านคุณเชื่อแบบไหน?
ตายวันเสาร์ เผาวันอังคาร

เผาศพวันไหนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างความปวดหัวให้กับคนรุ่นใหม่อยู่ไม่น้อย เนื่องจากแต่ละท้องที่ หรือแต่ละท้องถิ่นก็จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป บางที่ก็บอกเผาวันศุกร์ไม่ได้ บางที่ก็บอกไม่ควรเผาวันอังคาร อย่างทางล้านนาเองก็มีวันพิเศษของตัวเองที่ไม่ควรเผาอีกเช่นกัน มาลองดูความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้กันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้าง

ทำไมต้องเผาศพ สามารถทำวิธีอื่นได้หรือไม่?

เรื่องการเผาศพนี้ ถือเป็นความเชื่อหนึ่งของพราหมณ์และพุทธผสมกัน เพราะตามปกติแล้ว ความตายคือการที่จิตหลุดพ้นออกจากสังขารที่เคยครอง แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังยึดติดอยู่กับร่างเดิมของตัวเอง จึงต้องมีการเผาศพเพื่อไม่ให้เหลือสังขารใดๆ ที่จิตหรือวิญญาณจะยึดเหนี่ยวได้เลย ส่วนอัฐิหรือกระดูกที่เหลือจากการเผา ก็จะนำไปลอยในแม่น้ำคงคา เพราะเชื่อว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถชำระล้างได้ทุกอย่าง และพิธีกรรมเหล่านี้ก็ได้ถูกส่งต่อความเชื่อมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากการเผาแล้ว ในแต่ละประเทศก็มีวิธีจัดการกับศพที่แตกต่างกันไป เช่น ในทิเบต จะเอาศพไปทิ้งไว้บนภูเขาเพื่อให้อีแร้งกิน ซึ่งก็เชื่อกันว่าเป็นการทำบุญครั้งสุดท้าย และวิญญาณคนตายจะได้ขึ้นสู่สวรรค์ หรืออย่างในสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็วๆ นี้ก็เริ่มมีการเอาศพไปหมักเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้แล้ว ก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบต่างกันไปแบบนานาจิตตัง

ทำไมถึงห้ามเผาศพวันศุกร์ แล้วถ้าหากต้องการเผาวันนี้จะทำได้มั้ย?

เรื่องนี้เป็นความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ว่าไม่ควรเผาศพวันศุกร์ และวันพระ ไม่ว่าจะตรงกันวันอะไรก็ตาม ซึ่งก็เป็นเพราะชาวบ้านเชื่อว่าวันพระเป็นวันดีวันมงคล ส่วนวันศุกร์ พ้องเสียงกับคำว่าสุข ก็คงจะเป็นเรื่องไม่ดีเท่าไรถ้ามีงานไม่มงคลเกิดขึ้นในสองวันนี้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว วันพระและวันศุกร์ มักจะเป็นวันที่พระสงฆ์มีกิจต้องทำมากกว่าวันอื่นๆ การฌาปนกิจศพในวันนี้ จึงดูเหมือนจะเป็นการรบกวนหรือเบียดเบียนพระมากกว่า ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่ได้เคร่งมากขนาดนั้นแล้ว แต่คนส่วนมากมักใช้เวลาตอนเย็นวันศุกร์หลังเลิกงานในการสังสรรค์อยู่ดี จึงอาจทำให้หลายคนไม่สะดวกใจที่จะต้องไปร่วมงาน

แล้ววันอังคารสามารถเผาศพได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้เป็นเพราะอะไร?

นอกจากวันพระกับวันศุกร์แล้ว อีกวันนึงที่คนมักจะพูดถึงกันบ่อยๆ คือวันอังคาร ที่เชื่อกันว่าเป็นวันแข็ง ยิ่งถ้าหากตายวันเสาร์ เผาวันอังคารที่เป็นวันแข็งทั้งคู่ จะทำให้วิญญาณของศพค่อนข้างดุร้าย หรือมีพลังมากกว่าวิญญาณทั่วไป นอกจากนี้ยังมีอีกความเชื่อว่าวันแข็ง เป็นวันที่คนเล่นของจะปล่อยของออกมาจากตัว หากจัดงานฌาปนศพขึ้น มีคนมาอยู่รวมกันเยอะๆ ก็อาจทำให้ลมเพลมพัดเข้าตัวแขกได้

เรื่องนี้ถือเป็นความเชื่อหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะขนาดหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ยังเลือกนำผงกระดูกจากเด็กที่ตายวันเสาร์ เผาวันอังคารมาทำเป็นวัตถุมงคลในชื่อ “พระขุนแผนผงพรายกุมาร” รวมถึงพระพรายกุมารรุ่นอื่นๆ ด้วย

อ่านเพิ่มเติม : พระขุนแผนผงพรายกุมาร หลวงปู่ทิม คืออะไร มีพุทธคุณอะไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติม : เมื่อหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ กล่าวถึงพระขุนแผนผงพรายกุมาร หลวงปู่ทิม

สำหรับท้องถิ่นที่เชื่อถือเรื่องนี้ จะเป็นแถวภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางกรณีที่เลือกเผาวันนี้ แต่ต้องมีการ “แก้เคล็ด” บางอย่างเหมือนกัน อย่างในกรณีกราดยิงเด็กอนุบาลที่ จ.หนองบัวลำภู ก็ได้มีการเผาศพทั้งหมดในวันอังคาร และมีพระสงฆ์มาทำพิธีขอบิณฑบาตรแก้เคล็ดให้ตามความเชื่อ เพื่อส่งเด็กๆ กลับไปสวรรค์ รอเวลากลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง

ห้ามเผาศพวันเก้ากอง เพราะจะทำให้มีคนตายเพิ่มอีกเป็นกอง

สำหรับคนเหนือ หรือผู้ที่สืบสายเลือดล้านนาโบราณมา จะไม่เผาศพในวันพุธ และวัดเก้ากอง ซึ่งจะมีการคำนวณตามปฏิทินล้านนาโดยตรง ในวันเก้ากองนี้ นอกจากจะห้ามฌาปนกิจศพแล้ว ยังห้ามฝังศพ รวมถึงห้ามเผาไม้อีกด้วย

ตามตำนานของวันเก้ากองเล่ากันไว้ว่า มีหญิงสาวคนนึงมีสามีทั้งหมด 7 คน ซึ่งทั้ง 7 คนนี้มีรูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กัน แต่ที่เด่นชัดที่สุดคือหัวล้าน วันนึงนางเก็บเห็ดป่ามาทำอาหารให้สามีทั้ง 7 เมื่อสามีได้กินก็เสียชีวิตจากอาการแพ้เห็ด หรือเป็นเห็ดพิษก็ตาม นางผู้นั้นไม่มีเงินทำศพให้สามีทั้ง 7 คน จึงได้ออกอุบายหลอกสัปเหร่อมาช่วยเผาสามีให้หน่อย แต่สามีคนนี้บอกกับนางตอนยังมีชีวิตอยู่ว่า ไม่ว่าจะตายจากไปไหนก็จะกลับมาอยู่ด้วยตลอด นางกลัวเลยอยากมั่นใจว่าสัปเหร่อจะเผาศพให้ไหม้สนิทได้จริง ข้างสัปเหร่อก็ตกลงรับปาก นางจึงเอาศพสามีคนแรกมาวางบนเรือน ส่วนอีก 6 คนที่เหลือซ่อนไว้

เมื่อสัปเหร่อแบกศพสามีคนแรกไปเผาในป่าช้าเรียบร้อย ก็ได้กลับมาขอค่าจ้างจากนาง นางก็ชี้ให้ดูศพสามี (คนที่ 2) ที่วางอยู่บนเรือนว่า สามีนางกลับมาแล้ว สัปเหร่อตั้งใจดูก็พบว่าเหมือนคนแรกจริงๆ ทั้งศีรษะล้านและหน้าตา ก็ได้เอาศพไปเผาให้ใหม่อีกครั้ง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงศพสามีคนที่ 7 คราวนี้สัปเหร่ออยู่เฝ้าศพอย่างจริงจัง พร้อมกับถือไม้ท่อนใหญ่ไว้ท่อนนึง กะว่าถ้าศพลุกกลับไปบ้านอีก จะตีให้ตายซ้ำสองเลย

แต่ในระหว่างนั้น มีชายผู้ยึดอาชีพเผาถ่านขายเดินผ่านไป และหน้าตารวมถึงศีรษะก็เหมือน 7 ศพที่สัปเหร่อเผาไปก่อนหน้าด้วย ด้วยความโกรธ หงุดหงิด และโมโหทำให้สัปเหร่อเอาไม้ไปตีเต็มแรงเพราะเข้าใจว่าเป็นศพลุกขึ้นได้ คนขายถ่านก็สู้เพราะตัวเองไม่ได้ทำผิดอะไร สุดท้ายก็พลาดท่าตกลงไปในกองไฟทั้งคู่ รวมแล้วเหตุการณ์นี้มีคนตายทั้งหมด 9 คน จึงเรียกว่าเป็นวันเก้ากอง ไม่ควรเผาศพในวันนี้

เผาหลอก – เผาจริง คืออะไร ทำไมถึงต้องมีสิ่งนี้ ?

หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่า ในงานศพจะมีพิธีเผาหลอกก่อน จากนั้นค่อยเผาจริง ก็เลยไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้คืออะไร และทำไปทำไม เรื่องนี้มีบันทึกไว้จากขุนนาง และคุณพนักงานในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งแต่เดิมมีแค่การเผาศพจริงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อเปิดปากโกศขึ้นมาเพื่อที่จะให้ไฟลุกเข้าไปข้างใน ทุกคนที่มาร่วมงานก็จะได้กลิ่นไปพึงประสงค์ รวมถึงอาจจะเห็นภาพที่ไม่ชวนให้สบายใจเท่าไร 

เมื่อเป็นแบบนี้จึงได้มีการคิดวิธีใหม่ขึ้นมาคือการเผาหลอกที่ให้แขกทุกคนที่มางานได้วางดอกไม้จันทน์ที่จิตกาธานก่อน แล้วค่อยเผาจริงในช่วงหลังจากนั้น 1-2 ชั่วโมง หรือเมื่อแขกกลับไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงญาติและคนสนิทที่จะได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายอยู่ด้วยกันเท่านั้น

บทความแนะนำ

ดวงพิชัยสงคราม

ยันต์ดวงพิชัยสงคราม ทำแล้วจะช่วยให้ชนะทุกอย่างได้จริงหรือไม่?

ทำความรู้จักยันต์ดวงพิชัยสงคราม ยันต์ที่เชื่อว่าทำแล้วจะมีชัยเหนือทุกสิ่ง มารู้จักกันให้มากขึ้นว่ายันต์นี้คืออะไร ทำแล้วได้ผลจริงหรือเปล่า?

อ่านต่อ »