พระเจ้าติโลกราช กับความพ่ายแพ้ต่ออยุธยา ที่เกิดจาก "ไสยศาสตร์"

พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรล้านนา ต้องแพ้สงครามให้กรุงศรี เพียงเพราะพลาดท่าให้กับ “ไสยศาสตร์”
พระเจ้าติโลกราช

พระเจ้าติโลกราช อาจเป็นชื่อของพระมหากษัตริย์ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นเคย หรือไม่ค่อยได้ยินเท่าไร แต่สำหรับคนล้านนา หรือคนไทยที่อยู่ในภาคเหนือต้องเคยได้ยินแน่นอน เพราะกษัตริย์ล้านนาพระองค์นี้ได้นำพาอาณาจักรล้านนาก้าวขึ้นสู่อำนาจและความเจริญสูงสุด ถึงขนาดที่อาณาจักรจีนในช่วงเวลานั้นยังต้องบันทึกพระนามของพระองค์ไว้

 

ถึงแม้จะเอาชนะอาณาจักรน้อยใหญ่ได้มากเท่าไร ท้ายที่สุดกษัตริย์ล้านนาพระองค์นี้ก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่อยุธยา ไม่ใช่เพราะตำราพิชัยสงคราม หรือยุทธวิธีในการรบที่อ่อนแอกว่า แต่เป็นเพราะการเล่นของ หรือการทำไสยศาสตร์บางอย่างที่ทำให้เชียงใหม่อ่อนแอ จนต้องตกเป็นของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในที่สุด

พระราชประวัติของ “พระเจ้าติโลกราช” แบบเข้าใจง่ายๆ

พระเจ้าติโลกราช พระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ.1952 เดิมมีชื่อว่า “ท้าวลก” เมื่อมีพระชันษาเติบใหญ่ขึ้นมา พระราชบิดาได้ส่งให้ไปครองเมืองพร้าว (อ.พร้าว จ.เชียงใหม่) แต่เนื่องจากได้ทำผิดพระราชอาญา จึงได้ถูกพระราชบิดาเนรเทศให้อยู่ที่เมืองยวมใต้ (อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน) 

 

ระหว่างที่เจ้าลกอยู่ที่เมืองยวมใต้ ได้มีขุนนางสมคบคิดกันชิงราชสมบัติให้ ท้าวลกจึงได้ราชสมบัติและทรงมีพระนามใหม่ว่า “พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช” ครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.1985 ในระหว่างที่พระองค์ทรงครองราชย์ได้สร้างความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นให้กับล้านนาอย่างมาก เพราะสามารถตีอาณาจักรต่างๆ เพื่อขยายดินแดนได้ทั่วทุกทิศ เช่น เมืองน่าน เมืองฝาง เมืองยอง เมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงรุ่ง (12 ปันนา มณฑลยูนนาน) เมืองนาย เมืองล๊อกจ๊อก เมืองสีป้อ เมืองเชียงทอง (รัฐฉาน พม่า) เมืองไทใหญ่ เมืองกำแพงเพชร เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย สุโขทัย) 

พระเจ้าติโลกราช กับบทสวดมนต์ที่ (เชื่อว่า) ช่วยให้มีชัยเหนือศัตรู

 

อย่างหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือ ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองอย่างถึงที่สุด การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมก็เจริญก้าวหน้า พระภิกษุมีความแตกฉานในพระไตรปิฏกเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่สามารถทำสังคายนาพระไตรปิฏกได้เป็นครั้งที่ 8 ของโลก

 

มีบันทึกว่า พระเจ้าติโลกราช ได้สวดมนต์บท “จุททสมคาถา” หรือ “คาถาปโชตา” ซึ่งเป็นคาถาโบราณที่ตกทอดมาจากลังกา โดยเชื่อกันว่า หากพระคาถาชินบัญชรเปรียบได้กับเกราะทองของพระพุทธเจ้า คาถาปโชตานี้ ก็เปรียบได้กับสังวาลย์เพชร หากสวดคู่กันเป็นประจำ จะช่วยให้เทวดาคุ้มครอง และได้รับบุญอย่างมหาศาล

 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งคาถาที่พระองค์สวด มีชื่อว่า “พระคาถาคระหะสันติ” หรือคาถาระงับเคราะห์กรรม เป็นคาถาโบราณที่ตกทอดมาจากลังกาเช่นกัน ภายหลังจากการได้รับชัยชนะเหนือข้าศึกทั่วทุกทิศ พระองค์ได้ให้อาลักษณ์และขุนนางจารึกบทสวดทั้งสองบทนี้ไว้ในรูปแบบภาษาล้านนาโบราณ เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงมีแต่คนล้านนา หรือคนท้องถิ่นในภาคเหนือถึงได้สวดมนต์ทั้งสองบทนี้เป็นประจำ และไม่ได้มีการเผยแพร่ไปยังภาคอื่นๆ ด้วย

 

อ่านเพิ่มเติม : รู้จัก “จุททสมคาถา” พระคาถามงคลที่ควรสวดคู่กับพระคาถาชินบัญชร

 

อ่านเพิ่มเติม : รู้จัก “พระคาถาคระหะสันติ” คาถาระงับดับเคราะห์ด้วยตัวเอง

สงครามล้านนา – อยุธยา ในสมัยพระเจ้าติโลกราช

สงครามล้านนา – อยุธนา ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช เกิดขึ้นครั้งแรกกับเจ้าสามพระยา ชนวนเหตุของเรื่อง คือเจ้าเมืองเทิง (อ.เทิง จ.เชียงราย) ในเวลานั้นไม่พอใจที่กองทัพของพระองค์ได้ฆ่าเจ้าเมืองฝางที่ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อเชียงใหม่ จึงได้หนีไปสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา เจ้าสามพระยา กษัตริย์อยุธยาในเวลานั้นเห็นเป็นโอกาสดีจึงได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เพื่อขยายอาณาเขต และขยายอิทธิพลของกรุงศรีให้กว้างขึ้น แต่ฝั่งเชียงใหม่รู้ทันจึงได้จับเจ้าเมืองเทิงประหารชีวิตก่อน แล้วใช้กลศึกตีจนทัพกรุงศรีแตกพ่ายกลับไป 

 

หลังจากพ่ายแพ้ในศึกครั้งแรก เจ้าสามพระยาได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง แต่ครั้งนี้พระองค์สิ้นพระชนม์ระหว่างการเดินทัพ กษัตริย์ของกรุงศรีพระองค์ถัดมาคือ “สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” จึงได้สานต่อ แต่ผลปรากฎว่าช่วงแรก กองทัพของพระเจ้าติโลกราชสามารถยึดเมืองเชลียง หรือศรีสัชนาลัยได้ และกองทัพกรุงศรีก็ไม่สามารถทำอะไรกองทัพเชียงใหม่ได้เลย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงทรงตระหนักว่าเป็นการยากที่จะรบให้ชนะกองทัพเชียงใหม่นี้ได้ จึงตัดสินใจใช้วิธีทางการทูต ด้วยการออกผนวชแล้วส่งราชทูตมาขอเครื่องอัฐบริขารและพระสงฆ์ไปทำพิธีผนวชให้

 

แค่นั้นยังไม่พอ พระภิกษุบรมไตรโลกนาถ ภายหลังจากผนวชแล้ว ได้ส่งราชทูตไปยังเมืองเชียงใหม่อีกคนหนึ่ง เพื่อขอบิณฑบาตรเมืองเชลียงคืน แต่ฝั่งพระเจ้าติโลกราชไม่คืนให้ ด้วยมองว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กรุงศรีตัดสินใจที่จะใช้วิชาทางไสยศาสตร์มนต์ดำในการทำลายเมืองเชียงใหม่ เพราะรู้แล้วว่ายังไงก็ไม่มีทางได้เมืองเชลียงคืนแน่นอน

 

กรุงศรีอยุธยาใช้ “ไสยศาสตร์” อะไร ทำลายเมืองของพระเจ้าติโลกราช

แม้จะยังบวชอยู่ แต่ด้วยความแค้นที่ถูกหักหน้า ทำให้ภิกษุบรมไตรโลกนาถ ต้องส่งอุปนิกขิต หรือจารชนเข้าไปในเชียงใหม่ เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่าเชียงใหม่มีดีอะไร ทำไมถึงได้รบชนะทุกเมือง แม้แต่กรุงศรีที่เป็นเมืองใหญ่ก็ยังสู้ไม่ได้ ซึ่งจารชนที่ส่งเข้าไปก็ได้กลับมาทูลว่า เมืองเชียงใหม่มี “ไม้สรีเมือง” หรือ “ไม้นิโครธ” ที่หากถูกทำลายลงเมื่อไร เชียงใหม่ก็จะล่มสลายได้ในทันที

 

เมื่อรู้สาเหตุแล้ว ทางกรุงศรีจึงได้ตัดสินใจใช้กลวิธีจ้างนักบวชพม่า หรือ “ชีม่าน” เข้าไปหาทางทำลายไม้สรีเมืองนี้ได้ วิธีการที่ชีม่านผู้นี้นำมาใช้ก็คือ เข้ามาทำตัวเป็นผู้มีวิชาอาคม มีความรู้ช่วยเหลือชาวบ้านแถวๆ นอกประตูเมือง จนทำให้ขุนนางเมืองเชียงใหม่สนใจ และเชื่อว่าความเก่งกาจของชีม่านผู้นี้ น่าจะเป็นที่ถูกพระราชหฤทัยของพระเจ้าติโลกราช ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นทุกประการ พระองค์ถูกใจนักบวชพม่าผู้นี้มาก ถึงขนาดที่สร้างกุฏิให้อยู่ และได้ทรงถามว่าพระองค์ต้องทำอย่างไรเพิ่มเติมอีก ถึงจะมีเดชานุภาพได้มากกว่านี้ เข้าทางของชีม่าน ที่ได้บอกให้ทำลายไม้สรีเมือง ด้วยการสร้างหอคำหลวงขึ้นมาใหม่บริเวณที่ตั้งไม้สรีเมืองอยู่ และจะต้องขุดรากถอนโคนต้นไม้แถวนั้นให้หมด

 

ไม่ใช่เพียงเท่านี้ ในขั้นตอนการสร้างหอคำหลวง ชีม่านผู้นี้ยังได้บอกทิศแบบผิดๆ นำไม้อัปมงคลมาใช้ในกาก่อสร้าง และยังทำทุกอย่างเพื่อให้สถานที่ตั้งไม้สรีเมืองที่เคยศักดิ์สิทธิ์ เต็มไปด้วยความเสื่อมต่างๆ เพื่อทำลายอาถรรพ์ ซึ่งหลังจากที่ไม้สรีเมืองนี้ถูกทำลายลง พระเจ้าติโลกราชก็เปลี่ยนไป ทั้งสั่งประหารพระโอรสเพียงองค์เดียว เพราะเชื่อคำยุแหย่ว่าจะคิดกบฏ  รวมทั้งยังสั่งประหารขุนนางที่จงรักภักดีมาโดยตลอด จนทำให้เชียงใหม่อ่อนแอลงภายในเวลาไม่นาน

 

นอกจากนี้ทางกรุงศรียังได้จ้าง “จีนฮ่อ” หรือ “จีนมุสลิม” ที่มีความรู้ด้านคุณไสย ให้นำไหที่ใส่ของต่ำต่างๆ ไปฝังตามประตูเมืองเชียงใหม่ เพื่อล้างอาถรรพ์ หรือล้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาเมืองอยู่ และสุดท้ายความพยายามของกรุงศรีก็เป็นผล เมื่อสามารถตีเอาเมืองเชลียงกลับคืนมาได้สำเร็จ แม้หลังจากนี้จะมีการทำสัญญาสงบศึกกัน แต่มนต์ดำที่ปกคลุมเมืองเชียงใหม่ และพระเกียรติยศของพระเจ้าติโลกราชเองก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พระองค์จึงได้อุทิศเวลาหลังจากนี้ในการบำรุงพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นการไถ่บาป และพยายามแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดจนเป็นกาลีบ้านกาลีเมืองไป รวมถึงการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 8 ของโลกด้วย

บทความแนะนำ

ปล่อยปลาหน้าเขียง

ปล่อยปลาหน้าเขียง ทำแล้วดีจริงหรือไม่? บทความนี้มีคำตอบให้!

ปล่อยปลาหน้าเขียงคืออะไร หาซื้อได้จากที่ไหน ปล่อยปลาอะไรถึงจะดี ทำแล้วจะดีจริงหรือไม่ บทความนี้มีทุกคำตอบให้คุณ!

อ่านต่อ »
วัดกลางบางพระ

วัดกลางบางพระ หลวงพ่อสมหวัง จะขออะไรก็สมหวังได้ดั่งใจนึก

ใครหาที่มูอยู่ แนะนำหลวงพ่อสมหวัง วัดกลางบางพระ จ.นครปฐม เดินทางง่าย มูก็ไม่ยาก ทำตามขั้นตอนในบทความนี้ได้เลย

อ่านต่อ »
ทำน้ำมนต์ล้างสิ่งอัปมงคล

วิธีทำน้ำมนต์ชะล้างสิ่งอัปมงคล หลวงพ่อเงิน กตสาโร

ใครที่รู้สึกว่าตัวเองเจอแต่สิ่งไม่ดี สิ่งอัปมงคล ลองทำน้ำมนต์ชะล้างสิ่งอัปมงคลของหลวงพ่อเงิน กตสาโรได้ ตามวิธีการในบทความนี้

อ่านต่อ »